บล็อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อการเรียนการสอน

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

ทั่วโลกวิปริต น้ำท่วมใหญ่ ร้อนจัด อนาคตไทยจะเจอภัยพิบัติแบบไหน?


ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยแล้ง ไฟป่า การกัดเซาะชายฝั่ง สภาพอากาศแปรปรวน นับวันยิ่งมีความถี่ และรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศต่างรับรู้ได้ สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ทรัพย์สิน และคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนตัวเลขน่าใจหาย
อย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้ หลายพื้นที่ของโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์สลดใจไล่เลี่ยกัน โดยรัสเซียประชาชนต้องสังเวยราว 150 ศพ จากน้ำท่วมฉับพลันในเขตภูมิภาคกราสโนดาร์ ริมฝั่งทะเลดำ ทางตอนใต้ของประเทศ หลังฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนได้กว่า 28 ซม. บ้านถูกน้ำท่วม 5,000 หลังคาเรือน ซึ่งพื้นที่รอบเมืองคริมส์ได้รับความเสียหายมากที่สุด พบศพผู้เสียชีวิตถึง 134 ศพ ทั้งนี้ เมืองคริมส์อยู่ห่าง 200 กม.ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโซชิ สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 (พ.ศ.2557) แม้น้ำท่วมฉับพลันจะเกิดขึ้นบ่อยสำหรับเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งริมชายฝั่งทะเลดำในช่วงฤดูมรสุม เนื่องจากมีน้ำไหลบ่าลงมาจากเขา แต่ปีนี้ทางการไม่คาดคิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้
อีกด้านหนึ่ง ที่เมืองกุวาฮาตี รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 120 ศพ จากน้ำท่วมหนัก เพราะพายุมรสุมพัดกระหน่ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระแสน้ำเอ่อล้นท่วมสองฝั่งแม่น้ำพรหมบุตร และยังไหลบ่าเข้าท่วมรัฐใกล้เคียง อย่าง อรุณาจัลประเทศ มณีปุระ และเมฆาลัย ประชาชนราว 6 ล้านคนไร้ที่อยู่
ขณะที่ สหรัฐอเมริกา หลายเมืองต้องเผชิญกับอากาศร้อนจัด อย่าง วอชิงตัน ดี.ซี. 40.5 องศาเซลเซียส และบัลติมอร์ 39 องศาเซลเซียส ประชาชนต้องหลบร้อนด้วยการดื่มน้ำปริมาณมาก เข้าโรงภาพยนตร์ รวมถึงนั่งรถไฟใต้ดินเล่น เพราะมีเครื่องปรับอากาศช่วยคลายร้อน ขณะเดียวกัน มีรายงานผู้เสียชีวิตถึง 30 ศพ โดยที่รัฐแมริแลนด์ 9 ศพ เมืองชิคาโก 10 ศพ รัฐโอไฮโอ 3 ศพ รัฐวิสคอนซิน 3 ศพ รัฐเทนเนสซี 2 ศพ และรัฐเพนซิลวาเนีย 3 ศพ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยซึ่งหัวใจวาย
ด้าน ประเทศไทย ข้อมูลของเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา เผยถึง กรณีเฝ้าติดตามสถานการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ซึ่งจากการวิเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งในระบบบรรยากาศ และในมหาสมุทรที่เกิดขึ้นล่าสุด ได้คาดหมายว่า จะมีการพัฒนาไปเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงกันยายน โดยสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย สำหรับสภาวะฝนในช่วงฤดูฝนนี้ ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่น ๆ ของฤดูกาล สำหรับปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเส้นศูนย์สูตรเย็นผิดปกติ ก่อให้เกิดฝนตกหนัก ส่วนปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้น้ำในแถบดังกล่าวของแปซิฟิกร้อนผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง
“ส่วนการคาดหมายลักษณะอากาศเดือนกรกฎาคมอยู่ในช่วงกลางฤดูฝน ในช่วงครึ่งแรกของเดือนร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านประเทศจีนตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ทำให้ปริมาณ และการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของเดือนร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับพายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น) คาดว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าประเทศไทย 1-2 ลูก โดยมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนช่วงเดือนสิงหาคม/กันยายน และ/หรือ ภาคใต้ช่วงเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน” ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าปี 2555 นี้ปริมาณน้ำจะไม่มากถึงขั้นท่วมใหญ่
มาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าภาวะอากาศโลกป่วน คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับทุกคนอีกต่อไป โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกถึงกันมาก สำหรับสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติเหล่านี้ เนื่องมาจาก “โลกร้อนมากขึ้นจากการกระทำของมนุษย์” เมื่อธรรมชาติเปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งบนโลกย่อมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่มากน้อยต่างกันไป จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องให้ความสำคัญ ร่วมกันหาทางบรรเทา และปรับตัวรับมืออย่างมีวินัย.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น